"นวัตกรรม" ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายภาคส่วน ทั้งในภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม รวมถึงในระดับพื้นที่ด้วยตระหนักถึงโอกาสและความสำคัญของนวัตกรรมที่จะเข้ามายกระดับศักยภาพการแข่งขันและคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆจึงได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในรูปแบบต่างๆ
จึงได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในรูปแบบต่างๆ อาทิ การกำหนดให้ “การพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564 การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เมื่อ พ.ศ. 2562 เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และงานวิจัยจากภาคอุดมศึกษาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนวัตกรรม
การบริหารจัดการระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบและกลไกการทำงานเชิงระบบของระบบ ววน. ภายใต้บริบทประเทศไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ระบบ ววน. มีวิวัฒนาการไปตามเวลาและบริบทที่พิจารณา การนิยามระบบ ววน. ตามหลักวิชาการจึงมีความหลากหลาย สรุปจากการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของ
(1) ระบบวิจัย (Research System) ที่เน้นการสร้างและบริหารจัดการงานวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
(2) ระบบวิทยาศาสตร์ (Science System) ที่เน้นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึง
(3) ระบบนวัตกรรม (Innovation System) ที่เน้นการสร้างคุณค่าจากองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการขยายผลทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
โดยที่ทั้ง 3 ระบบต่างนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันแต่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงระหว่างกัน และหากสามารถเชื่อมโยงทุกระบบเข้าด้วยกันก็จะสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic impact) และช่วยขับเคลื่อนประเทศได้ หากพิจารณาในมิติของขอบเขตหน้าที่การทำงานนั้น จะเห็นได้ว่า ระบบ ววน. ทั้ง 3 ระบบ จะมีความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันอย่างเห็นได้ชัด โดยระบบวิจัยจะเน้นทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ระบบวิทยาศาสตร์จะเน้นทำหน้าที่ในการกระจายและใช้ประโยชน์องค์ความรู้ในขณะที่ระบบนวัตกรรมจะเน้าทำหน้าที่ในการสร้างคุณค่าใหม่จากองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์
ความพยายามของรัฐในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมจะอยู่ในรูปแบบของมาตรการและกลไกสนับสนุนทั้งทางการเงิน (financial support) และที่ไม่ใช่ทางการเงิน (non-financial support) ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรให้กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นหลัก ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงองค์ประกอบของแนวคิดด้านระบบนวัตกรรมจะพบว่าความเข้มแข็งของระบบนวัตกรรมจะเกิดจากองค์ประกอบ กิจกรรมและความเชื่อมโยงของการทำงานเชิงระบบในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมเชิงนโยบาย กิจกรรมด้านการศึกษาวิจัย กิจกรรมด้านธุรกิจ กิจกรรมด้านเศรษฐกิจ กิจกรรมด้านสังคม และกิจกรรมอื่นๆ ด้วยเหตุนี้การติดตามและประเมินพัฒนาการเชิงระบบของระบบนวัตกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงของมาตรการและกลไกสนับสนุนที่รัฐได้จัดสรรให้ รวมทั้งยังข้อมูลการติดตามและประเมินเชิงระบบจะสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ศักยภาพเชิงระบบ และออกแบบนโยบายด้าน ววน. ที่เหมาะสม
ในการสำรวจวรรณกรรมและงานวิจัยด้านระบบนวัตกรรมพบว่า งานวิจัยด้านระบบนวัตกรรมจะมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และหน่วยการวิเคราะห์ของงานวิจัยนั้น โดยสรุปอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่
● ระดับประเทศ หรือ National Innovation System - NIS (ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ)
● ระดับภูมิภาค หรือ Regional Innovation System - RIS (ระบบนวัตกรรมภูมิภาค)
● ระดับสาขา หรือ Sectoral Innovation System - SIS (ระบบนวัตกรรมรายสาขา)
ทั้งนี้ การติดตามและประเมินการพัฒนาระบบนวัตกรรมในแต่ละระดับจำเป็นต้องอาศัยมุมมอง เครื่องมือ และตัวชี้วัดเชิงองค์ประกอบและกิจกรรมที่แตกต่างกัน